Google

Tuesday, December 22, 2009

สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์:United Arab Emirates




การเมืองการปกครองของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นไปในกรอบของราชาธิปไตย มีรัฐต่างๆมารวมตัวกันเป็นสหพันธรัฐ มีประธานาธิบดีเป็นประมุขรัฐ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประมุขรัฐบาล ทั้งนี้โดยเจ้าผู้ครองนครรัฐอาบูดาบีเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเจ้าผู้ครองรัฐดูไบเป็นนายกรัฐมนตรีของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

เมื่อครั้งอดีตกาล รัฐชายฝั่งอ่าวเปอร์เซียรัฐนี้ ได้ยินยอมให้สหราชอาณาจักรเข้าควบคุมกิจการด้านการป้องกันประเทศและด้านกิจการต่างประเทศตามสนธิสัญญาที่ลงนามกันในคริสต์ศตวรรษที่ 19 เมื่อถึงปี ค.ศ. 1971 รัฐทั้ง 6 คือ อาบูดาบี, อัจมาน, ดูไบ, ฟูไจราห์, ชาจาห์ และ อุมม์อัลไกไวน์ได้รวมตัวกันเป็นประเทศ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์(United Arab Emirates =UAE) ต่อมาเมื่อ ค.ศ. 1972 รัฐราชอัลไคมาห์ ได้เข้ามารวมตัวอีกรัฐหนึ่ง รวมเป็น 7 รัฐ รายได้ต่อหัวจีดีพี (GDP) ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์สูงมาก คือสูงเท่าประเทศยุโรปตะวันตกชั้นนำเลยทีเดียว เนื่องจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีรายได้จากน้ำมันมากเพราะมีน้ำมันสำรองมากเป็นอันดับ 6 ของโลก และมีนโยบายต่างประเทศที่เป็นกลาง ทำให้เป็นรัฐมีบทบาทสำคัญในกิจการต่างๆของภูมิภาคตะวันออกกลาง

สหราชอาณาจักร : United Kingdom




การเมืองการปกครองของ สหราชอาณาจักรแห่งบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ (United Kingdom of Great Britain and Northern Ireland) เป็นไปตามกรอบของประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ (constitutional monarchy) กล่าวคือ พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขรัฐ และนายกรัฐมนตรีเป็นประมุขรัฐบาล อำนาจบริหารถูกใช้โดยรัฐบาลสหราชอาณาจักร รัฐบาลสก็อตแลนด์ รัฐบาลเวลส์ และฝ่ายบริหารของไอร์แลนด์เหนือ อำนาจนิติบัญญัติอยู่กับฝ่ายรัฐบาลและรัฐสภาที่เป็นแบบสภาคู่ คือสภาสามัญชน และสภาขุนนาง (the House of Commons and the House of Lords) ตลอดจนรัฐสภาสก็อต และรัฐสภาของเวสล์และไอร์แลนด์เหนือ ฝ่ายตุลาการเป็นอิสระจากฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ แม้ว่าตุลาการอาวุโสหลายท่านจะยังคงเป็นสมาชิกของสภาขุนนางก็ตาม ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2009 บทบาททางด้านตุลาการของสภาขุนนางได้ถูกขจัดออกไป และได้มอบบทบาททางด้านตุลาการนี้แก่ศาลสูงสุด ( Supreme Court) ภายใต้พระราชบัญญัติปฏิรูปรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 2005


สหราชอาณาจักรแห่งบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ เป็นมหาอำนาจทางอุตสาหกรรมและมหาอำนาจทางทะเลในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาระบอบการเมืองประชาธิปไตยแบบรัฐสภา (parliamentary democracy) ในการพัฒนาวรรณคดีและวิทยาศาสตร์ ในช่วงที่มีความเจริญถึงขีดสุดนั้น อาณาจักรอังกฤษมีความกว้างใหญ่ไพศาลครอบคลุมพื้นที่ถึงหนึ่งในสี่ของโลก ในช่วงครึ่งแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 20 อานุภาพความเข้มแข็งของสหราชอาณาจักรได้ลดลงเป็นอย่างมากในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและสงครามโลกครั้งที่สอง และจากผลของการถอนตัวออกจากสหภาพของสาธารณรัฐไอริช ในช่วงครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 20 สหราชอาณาจักรได้ประสบกับการล่มสลายของจักรวรรดิอังกฤษ และได้ก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาใหม่เพื่อให้มีความทันสมัยและมีความมั่งคั่งไพบูลย์ในยุโรป สหราชอาณาจักรเป็นหนึ่งในห้าของสมาชิกประเภทถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เป็นประเทศผู้ก่อตั้งองค์การสนธิสัญญาแห่งแอตแลนติกเหนือ(NATO) เป็นผู้ก่อตั้งเครือจักรภพ (Commonwealth)ดังนั้น จึงมีแนวทางระดับโลกในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ และกำลังพยายามปรับตัวเพื่อสร้างบูรณาการให้บังเกิดขึ้นในยุโรป แม้ว่าสหราชอาณาจักรจะเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป(EU) แต่ก็เลือกแนวทางที่จะอยู่นอกสหภาพเศรษฐกิจและการเงินของอียู การปฏิรูปรัฐธรรมนูญก็เป็นประเด็นสำคัญอย่างหนึ่งในสหราชอาณาจักร โดยได้มีการจัดตั้งรัฐสภาสก็อต สภาแห่งชาติเวลส์ และรัฐสภาไอร์แลนด์เหนือเมื่อปี ค.ศ. 1999 แต่ต่อมาได้ระงับใช้ไปช่วงเวลาหนึ่งและกว่าจะนำกลับมาใช้อีกในเดือนพฤษภาคม ค.ศ.2007 ทั้งนี้เนื่องจากเกิดปัญหาความล่าช้าในกระบวนการสันติภาพ

สหรัฐอเมริกา: United States of America




สหรัฐอเมริกา มีระบอบการเมืองการปกครองแบบสหพันธรัฐ แบบประธานาธิบดี (presidential, federal republic) มีประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเป็นทั้งประมุขรัฐและประมุขรัฐบาล ประธานาธิบดี รัฐสภา(สภาคองเกรส) และฝ่ายตุลาการแบ่งปันอำนาจที่สงวนไว้สำหรับรัฐบาลแห่งชาติ และรัฐบาลสหพันธ์แบ่งปันอำนาจอธิปไตยกับบรรดารัฐบาลมลรัฐทั้งหลาย การเลือกตั้งทั้งในระดับสหพันธ์และในระดับมลรัฐจะดำเนินตามรูปแบบพรรคการเมืองสองพรรค (two-party system)



ย้อนกลับไปในอดีตกาล อาณานิคมอเมริกันของอังกฤษ ได้แยกตัวออกจากเมืองแม่คืออังกฤษในปี ค.ศ. 1776 และได้รับการรับรองเป็นประชาชาติใหม่โดยมีชื่อว่า สหรัฐอเมริกา (United States of America) ภายหลังจากการลงนามในสนธิสัญญากรุงปารีส ค.ศ.1783 ในระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 19 และคริสต์ศตวรรษที่ 20 ได้มีมลรัฐใหม่เพิ่มเข้ามาใหม่อีก 37 มลรัฐจากเดิมที่มีอยู่เพียง 13 มลรัฐ กลายเป็นเป็นประชารัฐที่มีดินแดนขยายออกไปครอบคลุมทวีปอเมริกาเหนือและดินแดนโพ้นทะเลอื่นๆ ในประวัติศาสตร์ สหรัฐอเมริกาเคยผ่านเหตุการณ์สำคัญๆ คือ สงครามกลางเมือง(ค.ศ.1861-65) อันเป็นการสู้รบระหว่างรัฐต่างๆทางฝ่ายเหนือกับรัฐต่างๆทางฝ่ายใต้โดยทางฝ่ายเหนือเป็นฝ่ายมีชัยชนะ และเหตุการณ์เศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ในทศวรรษที่ 1930 หรือที่เรียกว่า the Great Depression of the 1930s ซึ่งในเหตุการณ์ครั้งนั้นมีคนตกงานเป็นจำนวนมาก สหรัฐอเมริกาเป็นฝ่ายชนะสงครามในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง สงครามโลกครั้งที่สอง และสงครามเย็นซึ่งสิ้นสุดลงในค.ศ. 1991 และยังดำรงสถานะเป็นประชารัฐที่มีอานุภาพมากที่สุดของโลก มีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง มีคนตกงานและมีภาวะเงินเฟ้อในระดับต่ำ และมีความเจริญทางด้านเทคโนโลยีรวดเร็วมาก

Monday, December 21, 2009

อุรุกวัย:Uruguay



การเมืองการปกครองของอุรุกวัย เป็นไปในกรอบของระบอบสาธารณรัฐประชาธิปไตย แบบประธานาธิบดี มีประธานาธิบดีเป็นทั้งประมุขรัฐและประมุขรัฐบาล มีระบบพรรคการเมืองแบบหลายพรรค (multiform party system) ประธานาธิบดีเป็นผู้ใช้อำนาจบริหาร และอำนาจนิติบัญญัติใช้โดยรัฐสภาซึ่งเป็นสภาคู่ ส่วนอำนาจตุลาการมีอิสระจากฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ

ย้อนไปในอดีต มอนเตวิเดโอ (เมืองหลวงของประเทศในปัจจุบัน) ก่อตั้งโดยสเปนในปี ค.ศ.1726 ให้เป็นฐานที่มั่นทางทหาร และต่อมาไม่นานสเปนได้ใช้ประโยชน์จากท่าเรือตามธรรมชาติของเมืองนี้ให้เป็นศูนย์กลางการค้าและพาณิชย์ที่สำคัญ ดินแดนแห่งนี้อาร์เจนตินา เคยอ้างกรรมสิทธิ์ แต่ถูกผนวกโดยบราซิลในปี ค.ศ.1821 อุรุกวัยประกาศเอกราชในอีกสี่ปีต่อมา และได้เอกราชจริงๆในปี ค.ศ. 1828 หลังจากทำการสู้รบกันอยู่สามปี รัฐบาลของประธานาธิบดี Jose BATLLE ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ได้ทำการปฏิรูปทางการเมือง ทางสังคม และเศรษฐกิจอย่างกว้างขวาง ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1960 กระบวนการกองโจรในเมืองของพวกมารกซิสต์ ชื่อ Tupamaros ได้ปฏิบัติการรุนแรงมาก ทำให้ประธานาธิบดีต้องมอบการปกครองประเทศให้แก่ฝ่ายทหารในปี ค.ศ. 1973 และในปลายปีเดียวกันนั้น พวกกบฏมาร์กซิสต์ได้ถูกฝ่ายทหารปราบปรามอย่างราบคาบ แต่รัฐบาลทหารยังคงปกครองประเทศต่อไปอีกช่วงระยะหนึ่ง ต่อมาก็ได้มีการรื้อฟื้นการปกครองแบบพลเรือนอีกครั้งหนึ่ง ในปี ค.ศ. 1985 เมื่อถึงปี ค.ศ. 2004 พรรคการเมืองผสมระหว่างฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวาชื่อ Frente Amplio Coalition ชนะการเลือกตั้ง อันนำไปสู่การยุติการครอบครองอำนาจทางการเมืองของพรรคโคโลราโด (Colorado) และพรรคบลันโก (Blanco)ที่เคยครองอำนาจติดต่อกันมาเป็นเวลายาวนานถึง 170 ปี ปัจจุบันปัจจัยทางการเมืองและปัจจัยทางแรงงานของอุรุกวัยจัดอยู่ในแบบที่มีเสรีมากที่สุดในทวีปอเมริกา

อุซเบกิสถาน:Uzbekistan



การเมืองการปกครองของอุซเบกิสถาน เป็นไปในกรอบของระบอบสาธารณรัฐ แบบประธานาธิบดี คือ ประธานาธิบดีเป็นทั้งประมุขรัฐและประมุขรัฐบาล อำนาจบริหารใช้โดยรัฐบาล อำนาจนิติบัญญัติใช้โดยรัฐบาลและรัฐสภาซึ่งเป็นสภาคู่ (Legislative Chamber and Senate )

ย้อนยุคไปในอดีต รัสเซียทำการพิชิตและผนวกดินแดนอุซเบกิสถานเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียตั้งแต่ช่วงปลายคริสต์สตวรรษที่ 19 ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ประชาชนชาวอุซเบกิสถานได้ทำการต่อต้านอย่างรุนแรงต่อกองทัพแดงแต่ก็ถูกปราบปรามลงได้อย่างราบคาบ และได้มีการสถาปนาสาธารณรัฐสังคมนิยมขึ้นในอุซเบกิสถานในปี ค.ศ. 1924 ในช่วงยุคที่เป็นรัฐหนึ่งของสหภาพโซเวียตนั้น ได้มีการเร่งการผลิตภัณฑ์ฝ้าย หรือที่เรียกว่า “ทองคำขาว”จนเกินความพอดี ซึ่งมีการใช้สารเคมีเพื่อเพิ่มผลผลิตเป็นจำนวนมาก จึงส่งผลในระยะยาวให้ผืนแผ่นดินเกิดมลภาวะ เกิดการขาดแคลนน้ำประปา ทะเลอารัล และแม่น้ำบางสายน้ำเหือดแห้งลงเกือบครึ่ง อุซเบกิสถานเมื่อได้เอกราชหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียตเมื่อปี ค.ศ. 1991 ก็ได้พยายามที่จะลดการพึ่งพาทางด้านเกษตรกรรมในขณะเดียวกันก็ได้หันไปเร่งพัฒนาแหล่งแร่ธาตุและแหล่งปิโตรเลียม ปัจจุบัน รัฐบาลอุซเบกิสถาน มีปัญหาในเรื่องลัทธิก่อการร้ายของพวกมุสลิมหัวรุนแรง ปัญหาความชะงักงันทางเศรษฐกิจ ปัญหาการปิดกั้นสิทธิมนุษยชน และปัญหาการสร้างระบบการปกครองให้เป็นแบบเสรีประชาธิปไตย

Tuesday, December 8, 2009

วานูอาตู:Vanuatu



การเมืองการปกครองของวานูอาตู ดำเนินในรูปแบบของ สาธารณรัฐประชาธิปไตย แบบรัฐสภา (parliamentary representative democratic republic) มีประธานาธิบดีเป็นประมุขรัฐ และนายกรัฐมนตรีเป็นประมุขรัฐบาล มีระบบพรรคการเมืองแบบหลายพรรค (multi-party system) อำนาจบริหาร (executive power) ถูกใช้โดยรัฐบาล อำนาจนิติบัญญัติ (legislative power) ถูกใช้โดยรัฐบาลและรัฐสภา อำนาจตุลาการ (judiciary) เป็นอิสระจากฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ รัฐบาลและสังคมในวานูอาตูมีแนวโน้มแยกเป็นสองพวกตามภาษาพูด คือ พวกหนึ่งพูดภาษาอังกฤษ และอีกพวกพูดภาษาฝรั่งเศส

ในอดีตนานมาแล้ว มีนักล่าอาณานิคมหลากหลายพวก ซึ่งแต่ละพวกแต่ละกระแสล้วนต่างชาติต่างภาษา ได้พากันอพยพโยกย้ายเข้าไปตั้งหลักปักฐานอยู่ในหมู่เกาะวานูอาตู ซึ่งในอดีตเรียกว่าหมู่เกาะนิวฮีไบรส์ (New Hebrides) ก่อนหน้าที่พวกสำรวจชาวยุโรปจะเข้าไปในคริสต์ศตวรรษที่ 18 เพราะพวกที่เข้าไปอยู่ใหม่มีหลายพวกหลายภาษาจึงได้ส่งผลให้ประชาชนในวานูอาตูในปัจจุบันมีความหลากหลายทางด้านภาษาและวัฒนธรรม ชาวอังกฤษและชาวฝรั่งเศส ซึ่งเข้าไปในหมู่เกาะแห่งนี้ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ได้ทำข้อตกลงระหว่างกันที่เรียกว่า Anglo-French Condominium เมื่อพ.ศ.1906 ซึ่งใช้บังคับใช้กับหมู่เกาะแห่งนี้จนกระทั่งได้รับเอกราชเมื่อปี ค.ศ.1980 และได้เปลี่ยนแปลงชื่อประเทศเป็น วานูอาตู อย่างในปัจจุบัน

Monday, December 7, 2009

วาติกัน,นครรัฐ:Vatican City State



การเมืองการปกครองของนครรัฐวาติกัน เป็นไปในกรอบของ สมบูรณาญาสิทธิเทวราชย์(absolute theocratic monarchy) โดยพระสันตะปาปาทรงเป็นพระประมุขศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกและเป็นผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหารและอำนาจตุลากรเหนือนครรัฐวาติกัน(Vatican City)

พระสันตะปาปาในฐานะผู้มีบทบาททางศาสนาได้เข้าครอบครองส่วนต่างๆของคาบสมุทรอิตาลีมานานกว่าพันปีกระทั่งถึงคริสต์ศตวรรษที่ 19 หลังจากนั้นรัฐต่างๆของพระสันตะปาปาได้ถูกราชอาณาจักรอิตาลีที่ตั้งขึ้นมาใหม่เข้ายึดครอง ในปี ค.ศ. 1870 รัฐต่างๆของพระสันตะปาปาถูกยึดมากขึ้นเรื่อยๆแม้กระทั่งโรมก็ถูกผนวกเข้าไปอยู่ในอาณาจักรอิตาลี ความขัดแย้งระหว่างพระสันตะปาปาที่ทรงถูกปิดล้อมและอาณาจักรอิตาลียุติลงได้ในปี ค.ศ.1929 โดยได้มีการลงนามในสนธิสัญญา 3 ฉบับ (Lateran Treaties) อันมีผลให้มีการสถาปนารัฐเอกราชคือนครรัฐวาติกันขึ้นมาและให้สถานภาพพิเศษของศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกในประเทศอิตาลี ในปี ค.ศ.1984 ได้มีข้อตกลงระหว่างรัฐวาติกันกับรัฐบาลอิตาลีทำการแก้ไขบทบัญบัติเดิมของข้อตกลงบางข้อรวมทั้งข้อที่กำหนดให้ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกเป็นศาสนาประจำชาติของอิตาลีด้วย ปัจจุบันนครรัฐวาติกันได้ให้ความสนใจปัญหาของเสรีภาพในการนับถือศาสนา ปัญหาของเหตุการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศ ปัญหาตะวันออกกลาง ปัญหาลัทธิก่อการร้าย ปัญหาการเจรจาและการประนอมระหว่างศาสนา การใช้หลักคำสอนทางศาสนาเพื่อแก้ไขปัญหาในยุคการแปลงแปลงและยุคลาภิวัตน์ เป็นต้น ปัจจุบันมีศาสนิกชนนับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกประมาณ 1,000 ล้านคน

เวเนซุเอลา : Venezuela




การเมืองการปกครองของเวเนซุเอลา เป็นระบบสาธารณรัฐ ประชาธิปไตย แบบประธานาธิบดี มีประธานาธิบดีเป็นประมุขรัฐและประมุขรัฐบาล มีพรรคการเมืองแบ่งแยกเป็น 2 ขั้ว คือ พรรคการเมืองในขั้วฝ่ายซ้าย และพรรคการเมืองในขั้วของฝ่ายขวา พรรคการเมืองขั้วฝ่ายซ้ายคือพรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาลอยู่ในปัจจุบัน คือ พรรคแนวร่วมสังคมนิยมแห่งเวเนซุเอลา (United Socialist Party of Venezuela (PSUV) ของประธานาธิบดีนายฮูโก ชาเวซ(Hugo CHAVEZ)

เวเนซุเอลา เป็นหนึ่งในสามประเทศที่เกิดใหม่จากการล่มสลายของอาณาจักร Gran Colombia ในปี ค.ศ. 1830(อีก 2 ประเทศคือ เอกวาดอร์ และนิวเกรนาดา(ซึ่งกลายเป็นประเทศโคลัมเบีย) ในช่วงเวลา 50 ปีของคริสต์ศตวรรษที่ 20 เวเนซุเอลาถูกปกครองโดยคณะนายทหาร ซึ่งได้ส่งเสริมอุตสาหกรรมน้ำมันและยอมให้มีการปฏิรูปสังคมบางอย่าง รัฐบาลที่ผ่านการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยเริ่มมีขึ้นในช่วงหลังปี ค.ศ. 1959 เป็นต้นมา นายฮูโก ชาเวซ ประธานาธิบดีของเวเนซุเอลานับแต่ปี ค.ศ 1999 ได้ดำเนินนโยบายที่เรียกว่า “สังคมนิยมทศวรรษที่ 21(21st Century Socialism) ซึ่งเป็นนโยบายส่งเสริมการแก้ปัญหาบางอย่างทางสังคม ในขณะเดียวกันก็เป็นนโยบายโจมตีระบบโลกาภิวัตน์และสร้างความอ่อนแอให้แก่เสถียรภาพในระดับภูมิภาค ในปัจจุบัน นายฮูโก ชาเวซ มุ่งความสนใจไปที่ ปัญหาความอ่อนแอของสถาบันการเมืองแบบประชาธิปไตย ปัญหาการแบ่งขั้วทางการเมือง ปัญหายาเสพติดภายในประเทศ ปัญหาการยุ่งเกี่ยวทางการเมืองของทหาร ปัญหาความรุนแรงทางพรรมแดนติดกับโคลัมเบียอันเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ปัญหาการพึ่งพาอุตสาหกรรมน้ำมันเพียงอย่างเดียวที่ราคาน้ำมันมีความกวัดแกว่งอยู่เสมอ และปัญหาการทำเหมืองแร่ที่ไม่รับผิดชอบอันส่งผลกระทบต่อป่าและประชาชนในท้องที่

เวียดนาม:Vietnam



การเมืองการปกครองของเวียดนามอยู่ในกรอบของ สาธารณรัฐสังคมนิยมมีพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียว (single-party socialist republic) บทบาทสำคัญของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามถูกยืนยันในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน(ปี ค.ศ. 1992) แม้ว่าในทางทฤษฎีเวียดนามจะยังคงปกครองด้วยระอบคอมมิวนิสต์ที่มีพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียว แต่การยึดมั่นในอุดมการณ์คอมมิวนิสต์มีความสำคัญน้อยลงกว่าการพัฒนาทางเศรษฐกิจ อันเป็นนโยบายรีบด่วนของชาติ องค์การทางการเมืองทุกองค์การของเวียดนามอยู่ภายใต้การควบคุมของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม ไม่มีการแบ่งแยกอำนาจระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหารและฝ่ายตุลาการ นโยบายของพรรคคอมมิวนิสต์ถูกกำหนดโดยสมาชิก 14 คนของคณะกรรมการกลางโปลิตบุโร (Politburo) ตำแหน่งสูงสุด 4 ตำแหน่งของคณะกรรมการกลางโปลิตบุโร ได้แก่ ตำแหน่งเลขาธิการพรรค ตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคงสาธารณะ ตำแหน่งประมุขรัฐ (ประธานาธิบดี)และตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สมาชิกของกรรมการบริหารโปลิตบุโรชุดปัจจุบันได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการกลางพรรค(ซึ่งมีสมาชิก 160 คน) เมื่อปี ค.ศ. 2006 สำนักเลขาธิการพรรคซึ่งประกอบด้วยสมาชิกคณะกรรมการกลางโปลิตบุโรจำนวน 8 คน ทำหน้าที่คอยกำกับดูแลการดำเนินนโยบายต่างๆ


เวียดนามตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสเมื่อปี ค.ศ. 1858 และเป็นส่วนหนึ่งอินโดจีนฝรั่งเศส (French Indochina) เมื่อปี ค.ศ. 1887 เวียดนามประกาศเอกราชหลังสงครามโลกครั้งที่สอง แต่ฝรั่งเศสไม่ยอมรับคำประกาศเอกราชนั้นและได้ดำเนินการปกครองเวียดนามต่อไป จนกระทั่งได้พ่ายแพ้ต่อกองกำลังของฝ่ายคอมมิวนิสต์ภายใต้การนำของ โฮจิมินห์ (Ho Chi MINH) ภายใต้ข้อตกลงนครเจนีวาปี ค.ศ.1954 (Geneva Accords of 1954) เวียดนามถูกแบ่งแยกเป็นสองประเทศ คือ ประเทศเวียดนามเหนือของฝ่ายคอมมิวนิสต์ และประเทศเวียดนามใต้ต่อต้านคอมมิวนิสต์ สหรัฐอเมริกาได้ให้ความช่วยเหลือทางด้านเศรษฐกิจและด้านการทหารแก่ประเทศเวียดนามใต้ตลอดทศวรรษปี ค.ศ. 1960 เพื่อสนับสนุนรัฐบาลของเวียมนามใต้ แต่กองทัพของสหรัฐอเมริกาได้ถอนออกจากเวียดนามใต้ตามข้อตกลงหยุดยิงเมื่อปี ค.ศ. 1973 ในอีก 2 ปีต่อมา กองทัพเวียดนามเหนือได้บุกเวียดนามใต้และได้รวมประเทศเป็นหนึ่งเดียวภายใต้การปกครองของคอมมิวนิสต์ แม้ว่าบ้านเมืองจะกลับคืนสู่สันติภาพแล้ว แต่ในช่วง 10 ปีหลังจากนั้น ประเทศเวียดนามก็ยังไม่ฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ เพราะผู้นำคอมมิวนิสต์กลุ่มหัวอนุรักษ์นิยมยังดำเนินนโยบายแกร่งกร้าวแบบคอมมิวนิสต์ มีการลงโทษผู้คนที่ต่อต้านคอมมิวนิสต์และส่งผลให้ผู้คนจากทางฟากเวียดนามใต้อพยพออกจากประเทศเป็นจำนวนมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือบรรดาพวกพ่อค้านายวาณิช ทำให้ประเทศเวียดนามต้องอยู่โดยโดดเดี่ยวอยู่ช่วงระยะหนึ่ง แต่ต่อมานับแต่ได้มีการประกาศนโยบาย”ดอยมอย”(การปฎิรูป)ของเวียดนามเมื่อปี ค.ศ. 1986 เจ้าหน้าที่รัฐบาลของเวียดนามก็ได้เร่งสร้างระบบเสรีทางเศรษฐกิจให้บังเกิดขึ้น ได้เร่งปฏิรูประบบโครงสร้างทางเศรษฐกิจต่างๆอันจำเป็นต่อการสร้างความทันสมัยให้แก่เศรษฐกิจของประเทศ ตลอดจนผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมการส่งออกและให้มีการแข่งกันกันในตลาดเสรีมากยิ่งขึ้น กระนั้นก็ตามในภายในประเทศ เวียดนามก็ยังประสบกับปัญหาการประท้วงจากชนกลุ่มน้อยต่างๆอยู่บ้างแต่ไม่ถึงกับรุนแรงมาก เช่น ชนกลุ่มน้อยหลายกลุ่มในตอนกลางของประเทศ และพวกเขมรกรอมในทางภาคใต้ของประเทศ ในปี ค.ศ. 2008 เวียดนาม
เป็นสมาชิกประเภทไม่ถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ ในวาระปี ค.ศ. 2008-09

เยเมน:Yemen



การเมืองของประเทศเยเมนดำเนินไปในกรอบของระบบสาธารณรัฐ ประชาธิปไตย แบบประธานาธิบดี (presidential representative democratic republic) โดยมีประธานาธิบดีเป็นประมุขรัฐ และนายกรัฐมนตรีเป็นประมุขรัฐบาล แม้ว่าจะได้ชื่อว่ามีระบบพรรคการเมืองแบบหลายพรรค(multi-party system)แต่ในความเป็นจริงเป็นระบบพรรคการเมืองที่มีพรรคเดียวครอบงำการเมืองอยู่ตลอด คือ พรรคคองเกรสแห่งประชาชนทั่วไป (General People's Congress) ซึ่งเป็นอย่างนี้มาตลอดตั้งแต่มีการรวมประเทศเข้าด้วยกันแล้ว อำนาจบริหารถูกใช้โดยรัฐบาล อำนาจนิติบัญญัติถูกใช้โดยรัฐบาลและรัฐสภา อำนาจตุลาการโดยทฤษฎีบอกว่ามีอิสระแต่ในความเป็นจริงถูกแทรกแซงโดยฝ่ายบริหาร

ประเทศเยเมนเหนือได้รับเอกราชจากอาณาจักรออตโตมาน (Ottoman Empire) ในปี ค.ศ.1918 สหราชอาณาจักรซึ่งได้จัดเขตตั้งพื้นที่อารักขา (protectorate area)รอบเมืองท่าทางตอนใต้ของเอเดนตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 19 ก็ได้ถอนตัวออกจากเยเมนใต้ ในอีกสามปีต่อมารัฐบาลเยเมนใต้ได้นำแนวความคิดของลัทธิมาร์กซิสม์มาใช้ในการบริหารประเทศ ทำให้มีชาวเยเมนหลายพันคนได้หลั่งไหลอพยพจากเยเมนใต้เข้ามายังเยเมนเหนือ ซึ่งส่งผลทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างเยเมนเหนือกับเยเมนใต้ ประเทศเยเมนเหนือและประเทศเยเมนใต้ได้ตกลงรวมกันเป็น สาธารณรัฐเยเมน(Republic of Yemen)เมื่อ ปี ค.ศ. 1990 กระบวนการแบ่งแยกดินแดนทางเยเมนใต้ได้ถูกปราบปรามสำเร็จอย่างรวดเร็วในปี ค.ศ. 1994 ต่อมาในปี ค.ศ. 2000 ซาอุดีอาระเบียและเยเมนได้ทำข้อตกลงสร้างเขตปลอดทหารตามพรมแดนของทั้งสองประเทศ

ซิมบับเว:Zimbabwe



การเมืองของซิมบับเว เล่นกันในกรอบของระบบสาธารณรัฐ แบบกึ่งประธานาธิบดี (semi-presidential republic) โดยที่ประธานาธิบดีเป็นประมุขของรัฐ และนายกรัฐมนตรีเป็นประมุขของรัฐบาล อำนาจของฝ่ายบริหารถูกใช้โดยรัฐบาล อำนาจนิติบัญญัติถูกใช้โดยรัฐบาลและรัฐสภา

สหราชอาณาจักร ผนวกดินแดน เซาเทิร์น โรดีเซีย (Southern Rhodesia) จากบริษัทบริติศ เซาท์ แอฟริกา คอมพานี (the [British] South Africa Company) ในปี ค.ศ. 1923 รัฐธรรมนูญปี ค.ศ. 1961 ถูกร่างขึ้นโดยมีอคติเพื่อให้เป็นประโยชน์แก่พวกคนผิวขาว ในปี ค.ศ. 1965 รัฐบาลได้ประกาศเอกราชจากสหราชอาณาจักรแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่ฝ่ายสหราชอาณาจักรไม่รับรองการประกาศดังกล่าว และได้เรียกร้องให้มอบสิทธิ์ในการเลือกตั้งอย่างสมบูรณ์มากยิ่งขึ้นแก่คนผิวดำส่วนใหญ่ในประเทศซึ่งในตอนนั้นเรียกว่า โรดีเซีย (Rhodesia) องค์การสหประชาชาติได้ทำการคว่ำบาตร และกองโจรคณะหนึ่งก็ได้จับอาวุธขึ้นต่อสู้และในที่สุดนำไปสู่การเลือกตั้งเสรีในปี ค.ศ.1979 และได้เอกราช (โดยมีชื่อใหม่ว่า ซิมบับเว ในปี ค.ศ. 1980) นายโรเบิร์ต มูกาเบ (Robert MUGABE) ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศ ก็ได้เป็นผู้นำคนแรกของประเทศเพียงคนเดียวในฐานะเป็นประธานาธิบดีนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1987 และเขาได้เข้าครอบงำระบบการเมืองของประเทศนับแต่ได้เอกราชมา การรณรงค์เพื่อให้แบ่งสรรปันปันส่วนที่ดินซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อ ค.ศ. 2000 ได้ส่งผลให้พวกชาวนาผิวขาวเป็นจำนวนมากอพยพออกนอกประเทศ ทำให้เศรษฐกิจเป็นอัมพาต เกิดการขาดแคลนสิ่งอุปโภคและบริโภคแผ่กระจายไปทั่วประเทศ นายโรเบิร์ต มูกาเบ ไม่สนใจต่อการประณามของนานาชาติ ได้จัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี ค.ศ. 2002 เพื่อให้ตนได้กลับมาเป็นประธานาธิบดีอีกครั้งหนึ่ง พรรคการเมืองของรัฐบาลคือพรรคซานุ-เอฟพี (ZANU-PF) ได้ใช้กลโกงทุกอย่างจนได้คะแนนเสียงสองในสามในการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2005 ซึ่งทำให้ได้มีโอกาสแก้ไขรัฐธรรมนูญในการจัดตั้งวุฒิสภาขึ้นมาใหม่ภายหลังได้ถูกยกเลิกไปในช่วงปลายทศวรรษปี ค.ศ.1980 ในเดือนเมษายน ค.ศ.2005 นายฮาราเร (Harare) ได้ดำเนินโครงการที่เรียกว่า ยุทธการฟื้นฟูความสงบเรียบร้อย (Operation Restore Order) ซึ่งส่งผลให้มีการทำลายบ้านเรือนและสถานประกอบการธุรกิจของพวกคนยากจนจำนวน 700,000 ซึ่งเป็นพวกสนับสนุนพรรคการเมืองฝ่ายค้าน ประธานาธิบดีมูกาเบ เมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2007 ได้ประกาศให้ทำการควบคุมราคาสินค้าขั้นพื้นฐานทุกอย่าง อันส่งผลให้ผู้คนเกิดความตื่นตระหนกรีบซื้อหาสินค้าไปกักตุนทำให้สิ่งของขาดตลาดอยู่หลายเดือน การเลือกตั้งทั่วไปซึ่งจัดขึ้นในเดือนมีนาคม ค.ศ.2008 แม้ว่าจะมีการโกงการเลือกตั้งแต่พรรคฝ่ายค้านก็สามารถได้ที่นั่งเพิ่มขึ้นรัฐสภา ผู้นำพรรคฝ่ายค้านเอมดีซี(MDC) ชื่อนายมอร์แกน ทีเอสวันจิไร (Morgan TSVANGIRAI) ความจริงมีชัยชนะในการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี แต่คำประกาศอย่างเป็นทางการของคณะกรรมการเลือกตั้งของซิมบับเวกลับไม่ยอมรับในชัยชนะของเขา จึงเกิดเหตุการณ์การต่อต้านและการประท้วงอย่างรุนแรง และเมื่อมีการใช้กำลังปราบปรามปราม ทำให้ผู้นำของพรรคฝ่ายค้านขอถอนตัวจากการเลือกตั้งที่จัดขึ้นเมื่อปลายเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2008 การโกงการเลือกตั้งและการใช้ความรุนแรงของรัฐบาลที่ทำกับฝ่ายค้านครั้งนี้ ก่อให้เกิดการประณามจากนานาชาติ แต่ประธานาธิบดีมูกาเบ กลับไม่สะทกสะท้อน เขาได้เจรจากับฝ่ายค้านและในที่สุดก็ตกลงแบ่งสรรปันส่วนอำนาจระหว่างกันได้ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2009 โดยที่เขาจะยังคงอยู่ในตำแหน่งประธานาธิบดีต่อไป และนายนายทีเอสวันจิไรจะได้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

แซมเบีย:Zambia



การเมืองของแซมเบีย เป็นการเมืองในกรอบของสาธารณรัฐ ประชาธิปไตย แบบประธานาธิบดี มีประธานาธิบดีเป็นทั้งประมุขรัฐและประมุขรัฐบาล มีระบบพรรคการเมืองแบบหลายพรรค อำนาจบริหารถูกใช้โดยรัฐบาล อำนาจนิติบัญญัติถูกใช้โดยรัฐบาลและรัฐสภา ประเทศแซมเบียเป็นสาธารณรัฐทันทีที่ได้รับเอกราชจากประเทศสหราชอาณาจักรในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1964

เมื่อครั้งอดีตกาล ดินแดนที่เป็นประเทศแซมเบียในปัจจุบัน เรียกว่า นอร์เทิร์น โรดีเซีย (Northern Rhodesia) ได้ถูกบริหารโดย บริษัทแอฟริกาใต้ของอังกฤษ (the [British] South Africa Company) ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1891 และดินแดนนี้ได้ถูกโอนมาเป็นของประเทศสหราชอาณาจักรในปี ค.ศ. 1923 ในช่วงทศวรรษปี 1920 และทศวรรษปี ค.ศ. 1930 กิจการเหมืองแร่ของประเทศมีความเจริญก้าวหน้ามากทำให้เกิดการพัฒนาหลายด้าน และดึงดูดให้ผู้คนจากต่างถิ่นฐานอพยพเข้าไปอยู่อาศัย ดินแดนแห่งนี้ได้เปลี่ยนชื่อจาก นอร์เทิร์น โรดีเซีย เป็น แซมเบีย ในตอนได้เอกราชเมื่อปี ค.ศ. 1964 ในระหว่างทศวรรษปี 1980 และทศวรรษปี 1990 ราคาของแร่ทองแดงในประเทศตกต่ำลงมากประจวบกับได้เกิดฝนฟ้าแห้งแล้ง จึงได้ส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศตกต่ำอย่างรุนแรง การเลือกตั้งในปี ค.ศ.1991 นำมาซึ่งการยุติการปกครองแบบมีพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียว แต่ผลของการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในปี ค.ศ. 1991 ฝ่ายรัฐบาลถูกพรรคฝ่ายค้านตามรังควานอยู่ตลอด ในการเลือกตั้งเมื่อปี ค.ศ. 2001 การบริหารประเทศของฝ่ายรัฐบาลต้องประสบกับปัญหาถูกสามพรรคการเมืองยื่นฟ้องร้องต่อศาลว่า นายเลวี เอมวานาวาซา(Levy MWANAWASA)ขาดคุณสมบัติของความเป็นผู้สมัครของพรรครัฐบาล ประธานาธิบดีคนใหม่ (Levy MWANAWASA) ได้ดำเนินการสอบสวนการทุจริตคอรัปชั่นเมื่อปี ค.ศ. 2002 ตามข้อกล่าวหาว่ามีการทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวงของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลชุดก่อน ในระหว่างปี ค.ศ. 2006-07 ภารกิจในการสอบสวนการทุจริตประสบความสำเร็จ สามารถลงโทษผู้กระทำผิดใน 4 คดี รวมทั้งคดี ที่อดีตประธานาธิบดี เฟรดอริค ชิลุบา(Frederick CHILUBA) และผู้อื่นอีกหลายคนถูกกล่าวหาว่าทุจริตคอร์รัปชั่น ประธานาธิบดีเอมวานาวาซาได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีอีกสมัยหนึ่งในปี ค.ศ.2006 ในการเลือกตั้งที่ถือว่าอิสระและบริสุทธิ์ยุติธรรม เมื่อประธานาธิบดีเอมวานาวาซาเสียชีวิตอย่างปัจจุบันทันด่วนในเดือนสิงหาคม ค.ศ.2008 รองประธานาธิบดี รูเปียห์ บันโด (Rupiah BANDA)จึงเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีแทน และส่งผลต่อมาให้เขาได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีเป็นกรณีพิเศษเมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ.2008
Custom Search

Google